วันพุธที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2560

12 ที่เที่ยวมุกดาหาร จังหวัดประตูหน้าด่านสู่อินโดจีน

1. วัดพระศรีมหาโพธิ์

ที่เที่ยวมุกดาหาร
ภาพจาก ททท.

          วัดพระศรีมหาโพธิ์ เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองมานานนับ 100 ปี ตั้งอยู่กลางใจเมือง บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขงตั้งอยู่ที่บ้านหว้านใหญ่ อำเภอหว้านใหญ่ ภายในวัดจะมีโบราณสถานคือสิมอีสาน (โบสถ์) ที่เก่าแก่ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2459 ศิลปะผสมตะวันตก ไทย เวียดนาม ฝรั่งเศส เป็นสิมที่ผนัง 3 ด้าน ภายในผนังจะมีธูปแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนังเรื่องราวของพระเวสสันดรชาดกที่เป็นฝีมือของช่างพื้นบ้าน ซึ่งนับว่าเป็นภาพที่งดงามและหาดูได้ยากในปัจจุบัน นอกจากนี้ภายในวัดยังมีกุฏิเก่าแก่ซึ่งปัจจุบันทำเป็นห้องสมุดประชาชน สร้างโดยช่างชาวเวียดนาม เป็นสถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศส มีซุ้มประตูและหน้าต่างเป็นรูปโค้ง สวยงามแปลกตา

2. วัดศรีมงคลใต้

          วัดศรีมงคลใต้ ตั้งอยู่บริเวณถนนสำราญชายโขง ริมแม่น้ำโขงในตัวเมืองมุกดาหาร เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างสมัยกรุงธนบุรี ภายในพระอุโบสถประดิษฐาน "พระเจ้าองค์หลวง" พระพุทธรูปก่ออิฐถือปูน เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ประชาชนชาวไทยและลาวเลื่อมใสศรัทธามาหลายชั่วอายุคน สร้างขึ้นก่อนตั้งเมืองมุกดาหาร แต่ไม่ปรากฏว่าสร้างในสมัยใด มีขนาดหน้าตักกว้าง 2.20 เมตร ส่วนสูงเฉพาะองค์ถึงยอดพระเมาลี 2 เมตร

3. ศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง

ที่เที่ยวมุกดาหาร
ภาพจาก ททท.

          ตั้งอยู่บนถนนสองนางสถิตย์ ในเขตเทศบาลเมืองมุกดาหาร ในบริเวณศาลมีหลักเมืองประดิษฐานอยู่ด้วย ศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองนี้ไม่มีผู้ใดทราบความเป็นมาว่าสร้างในสมัยใด สันนิษฐานว่าคงจะสร้างขึ้นพร้อมกับการสร้างเมืองมุกดาหาร แต่เดิมเป็นเพียงศาลไม้ต่อมาได้มีการบูรณะก่อสร้างเป็นศาลคอนกรีต ชาวเมืองมุกดาหารถือว่าศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ปกปักรักษาเมืองมุกดาหารให้ร่มเย็นเป็นสุข ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ชาวเมืองมุกดาหารจะมีพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองพร้อมกับเจ้าแม่สองนางพี่น้องพร้อมกันเพื่อความเป็นสิริมงคล

4. ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง


ที่เที่ยวมุกดาหาร
ภาพจาก ททท.

          ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง ตั้งอยู่บนถนนสำราญชายโขง ริมแม่น้ำโขง เยื้องไปทางทิศเหนือของวัดศรีมงคลใต้ ติดกับด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดมุกดาหาร ศาลแห่งนี้เดิมเป็นศาลไม้ต่อมาได้มีการบูรณะเรื่อยมาจนเป็นคอนกรีตดังปัจจุบัน

          ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้องนี้มีเรื่องเล่าขานกันมานานว่าราวปี พ.ศ. 1896 เจ้าฟ้างุ้ม แห่งเมืองล้านช้าง เป็นบุตรเขยกษัตริย์เมืองอินทะปัด ได้พาลูกหลานอพยพตามลำน้ำโขงผ่านเมืองหนองคาย เมืองนครพนม จนถึงเขตเมืองมุกดาหาร แล้วเกิดเรือล่มที่บริเวณปากห้วยมุกทำให้ธิดาสาวทั้งสองคนซึ่งมีพระนามว่า พระนางพิมพา กับ พระนางลมพามา สิ้นชีพิตักษัย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2313 เจ้ากินรีได้มาสร้างเมืองมุกดาหารพร้อมกับได้สร้างโบสถ์วัดศรีมงคลใต้ขึ้น และในขณะก่อสร้างได้พบพระเมาลีพระพุทธรูปเหล็กจมอยู่ใต้พื้นดิน (บริเวณศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้องในปัจจุบัน) จึงขุดไปประดิษฐาน ณ โบสถ์วัดศรีมงคลใต้ แต่พอรุ่งขึ้นพระพุทธรูปเหล็กองค์นั้นก็กลับมาประดิษฐานอยู่ที่เดิมที่พบในครั้งแรกอีก ชาวบ้านจึงพากันเรียกว่า "พระหลุบเหล็ก"

          ประกอบกับบริเวณดังกล่าว ทุกวันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 6 จะมีเสียงร่ำไห้ของผู้หญิงสองคน ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นเสียงของพระนางพิมพากับพระนางลมพามา และได้แสดงอภินิหารให้ปรากฏอยู่เนือง ๆ เจ้ากินรี เจ้าเมืองมุกดาหารได้สืบทราบประวัติแห่งความเป็นมาจึงตั้งศาลขึ้น ณ ที่แห่งนั้น เพื่อให้วิญญาณได้สิงสถิต เมื่อ พ.ศ. 2315 และได้ขนานนามว่า "ศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้อง" อันเป็นที่เคารพสักการะของชาวเมืองมุกดาหารโดยทั่วกัน โดยถือเอาเดือนพฤษภาคมของทุกปีเป็นเดือนที่ทำพิธีเซ่นไหว้และบวงสรวงศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้องตั้งแต่นั้นมาจนถึงทุกวันนี้ 

          ทั้งนี้ชาวจังหวัดมุกดาหารถือว่าศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้องเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ คู่กับศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง ผู้ใดที่เคารพสักการะศาลเจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมืองแล้ว จะเลยไปเคารพสักการะศาลเจ้าแม่สองนางพี่น้องด้วยเสมอ และในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ของทุกปี ชาวจังหวัดมุกดาหารจะจัดให้มีพิธีบวงสรวง เจ้าพ่อเจ้าฟ้ามุงเมือง และเจ้าแม่สองนางพี่น้องพร้อมกัน

5. สักการสถานพระมารดาแห่งมรณสักขี วัดสองคอน

ที่เที่ยวมุกดาหาร
ภาพจาก ททท.
          ตั้งอยู่ที่ตำบลป่งขาม อำเภอหว้านใหญ่ เป็นโบสถ์คริสต์สร้างแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ที่มีความสวยงามและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีงานบุญราศีวัดสองคอน จัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติบุญราศี มรณสักขีทั้ง 7 ท่าน ที่ได้พลีชีพเพื่อยืนยันความเชื่อในองค์พระผู้เป็นเจ้า เมื่อครั้งเกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ดูเพิ่มเติมได้ที่ thai.tourismthailand.org)

          ปัจจุบันวัดสองคอนกำลังเป็นแหล่งศาสนาคริสต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และยังมีชื่อเสียงในเรื่องความงดงามแปลกตาของตัวอาคาร คือเป็นโบสถ์คริสต์สร้างแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่ใหญ่และสวยที่สุดในอุษาคเนย์ เคยได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ปี พ.ศ. 2539 โบสถ์แห่งนี้ได้ออกแบบโดย ดร.อัชชพล ดุสิตนานนท์ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กโถงสี่เหลี่ยมชั้นเดียว ผนังของวัดและส่วนไว้พระธาตุเป็นกระจกใส บริเวณด้านหน้าเป็นส่วนประกอบพิธี มีพื้นที่กว้างขวาง ส่วนด้านหลังเป็นที่เก็บอัฐิของบุญราศีทั้ง 7 ภายในมีโลงแก้วบรรจุหุ่นขี้ผึ้งของบุญราศีทั้ง 7 ไว้ให้สักการบูชา มีไม้กางเขน 7 แห่ง ด้านหน้าแทนบุญราศีทั้ง 7 ที่อุทิศชีวิตในป่าศักดิ์สิทธิ์เพื่อพิสูจน์ศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า ทุก ๆ ปี ในวันที่ 22 ตุลาคม คณะกรรมการบุญราศรีจะมีพิธีเฉลิมฉลองรำลึกถึงการสถาปนาแต่งตั้ง "บุญราศีมรณสักขี" และในวันที่ 16 ธันวาคมของทุกปีจะมีพิธีรำลึกบุญราศีสองคอน

          วัดสองคอนมีบริเวณกว้างขวางและมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำโขง เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมและสักการะทุกวันระหว่างเวลา 08.00-18.00 น. คริสตชนสามารถร่วมพิธีบูชามิสซาได้ในวันอาทิตย์ เวลา 07.00 น. (ข้อแนะนำ : สักการสถานพระมารดาแห่งมรณะสักขี เปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าชมและสักการะได้ทุกวัน ระหว่างเวลา 09.00-12.00 น. และ 13.00-17.00 น.)

6. น้ำตกตาดโตน


          ตั้งอยู่ที่บ้านโนนยาง อำเภอหนองสูง เป็นน้ำตกแห่งเดียวและเป็นน้ำตกที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของจังหวัด มีลักษณะเป็นน้ำตกชั้นเดียว มีน้ำไหลตลอดทั้งปี มีแนวราบยาวสวยงาม ความสูงน้ำตกประมาณ 7 เมตร กว้าง 30 เมตร มีแอ่งน้ำสำหรับเล่นน้ำได้ท่ามกลางธรรมชาติที่ร่มรื่น สวยงาม ในช่วงปลายฤดูฝนถึงฤดูร้อนน้ำจะใสไหลเย็นยิ่งชวนให้น่าลงเล่นน้ำเป็นอย่างมาก

7. ภูหมู

          ภูหมูเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามยิ่งอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดมุกดาหาร เป็นจุดชมทิวทัศน์ที่สำคัญและสวยงามแห่งหนึ่งของอำเภอนิคมคำสร้อย มองเห็นทุ่งนา ไร่สวนของชาวบ้านไกลสุดลูกตา โดยในช่วงฤดูหนาวลมจะพัดแรงและหนาวมาก ภูหมูมีความสูง 353 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มีพื้นที่ราบบนยอดเขาประมาณ 4 ตารางกิโลเมตร หรือ 2,500 ไร่ เมื่อสมัยก่อนบริเวณนี้มีหมูป่าชุกชุมมาก บนยอดเขามีจุดชมวิวซึ่งเป็นหน้าผา 3 จุด

          ● จุดชมวิวที่ 1 อยู่ด้านตะวันออกของที่ทำการ สามารถมองเห็นภูถ้ำเม่น ภูไม้ซาง ภูแผงม้า และอ่างเก็บน้ำห้วยขี้เหล็กได้อย่างชัดเจน

          ● จุดชมวิวที่ 2 อยู่ด้านทิศตะวันตก สามารถมองเห็นถนนทางขึ้นภูหมู ภูน้อย ภูติ้ว ภูโล้น ภูกะล่อน วัดภูด่านแต้ และเทือกเขาภูพานสลับซับซ้อน

          ● จุดชมวิวที่ 3 อยู่บริเวณยอดเขาด้านทิศใต้ สามารถมองเห็นภูถ้ำพระและอำเภอเลิงนกทา ในบริเวณนี้ยังมีร่มไม้ใหญ่และลานหินซึ่งเหมาะแก่การพักผ่อนเป็นอย่างยิ่ง

          โดยสามารถพักค้างแรมในบ้านพักหรือเต็นท์ตามที่อุทยานจัดไว้ การเดินทางนักท่องเที่ยวจะต้องอาศัยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก หากต้องการคำแนะนำในการเดินทางไปยังภูหมูสอบถามรายละเอียดได้ที่ อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว โทรศัพท์ 0 4261 9076 หรือกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2562 0760 ตลอดวันและเวลาทำการ

8. ตลาดอินโดจีน

ที่เที่ยวมุกดาหาร
ภาพจาก netsuthep / shutterstock.com
          ตลาดอินโดจีน ตั้งอยู่บริเวณถนนสำราญชายโขงในตัวเมืองมุกดาหาร หน้าวัดศรีมงคลใต้ เป็นแหล่งรวมสินค้านำเข้าจากนานาประเทศ เช่น รัสเซีย จีน เวียดนาม และสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จำหน่ายทั้งราคาส่งและปลีก ส่วนมากจะเป็นเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม เซรามิก เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องอุปโภคและบริโภคต่าง ๆ นอกจากสินค้าที่นำเข้ามา จำหน่ายจากต่างประเทศแล้วยังมีสินค้าพื้นเมืองของชาวมุกดาหารมาจำหน่ายอีกด้วย เช่น ผ้าไหม ผ้ามัดหมี่ และสินค้าท้องถิ่นอื่น

9. อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ

ที่เที่ยวมุกดาหาร

          เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 59 ของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่อำเภอเมืองมุกดาหารและอำเภอดอนตาล ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาหินทรายประกอบด้วยเทือกเขาน้อยใหญ่หลายลูกติดต่อกันแบบลูกคลื่นและเป็นส่วนปลายสุดของเทือกเขาภูพาน เทือกเขาเหล่านี้วางตัวในลักษณะแนวเหนือ-ใต้ขนาน และห่างจากชายฝั่งแม่น้ำโขงประมาณ 4 กิโลเมตร

          ภายในอุทยานภูผาเทิบประกอบด้วยภูหมากยาง ภูมโน ภูโปร่ง ภูรัง ภูจอมนาง ภูหมากมี่ ภูผาเทิบ ภูนางหงส์ ภูถ้ำพระ ภูหลักเส และยอดเขาสูงสุดคือยอดภูจอมศรี มีความสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 170-420 เมตร สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าไม้เต็งรังและป่าเบญจพรรณ และยังเป็นแหล่งกำเนิดของลำห้วยหลายสาย แถบบริเวณเชิงเขาเป็นป่าไผ่ขึ้นสลับเป็นแนว หลายบริเวณเป็นหน้าผาสูง และลานหินกว้าง มีหินรูปร่างแปลก ๆ มากมาย

          สถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจของอุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ เช่น กลุ่มหินเทิบ การเกิดกลุ่มหินเทิบจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นที่มาของประติมากรรมธรรมชาติที่ล้วนเกิดจากการกัดเซาะของฝน น้ำ ลมและแสงแดด ผ่านกาลเวลามาถึง 120-95 ล้านปี ทำให้กลุ่มหินเหล่านี้มีสภาพแตกต่างกันไปดูคล้ายรูปเครื่องบินไอพ่น จานบิน เก๋งจีน มงกุฎ หัวจระเข้ และหอยสังข์

          ลานมุจลินท์ เป็นลานหินเรียบทอดยาวกว้างไกลต่อจากกลุ่มหินเทิบ โดยมีป่าเต็งรังแคระล้อมรอบให้ความงดงามกลมกลืนกับธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่ง มีพันธุ์ไม้พุ่มจำพวกข่อยหิน นางฟ้าจำแลง อ้นเหลือง และกระโดนดานเป็นส่วนประกอบ จุดเด่นของที่นี่ที่ไม่ควรมองข้ามคือกลุ่มดอกหญ้าของสังคมพืชขนาดเล็ก เช่น สร้อยสุวรรณา หยาดน้ำค้าง หนาวเดือนห้า ดาวรวมดวงและดุสิตา ซึ่งจะออกดอกบานสะพรั่งในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี ณ กลางลานแห่งนี้ยังสามารถมองเห็นทัศนียภาพแม่น้ำโขงได้ด้วย

          นอกจากนี้อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบยังมีสถานที่ท่องเที่ยวอีกหลายจุด ไม่ว่าจะเป็นภูถ้ำพระ, น้ำตกภูถ้ำพระ, ผามะนาว, ถ้ำฝ่ามือแดง, ผางอย และผาปู่เจ้า ฯลฯ

10. แก่งกะเบา

ที่เที่ยวมุกดาหาร
ภาพจาก ททท.

          แก่งกะเบา ตั้งอยู่ในเขตบ้านนาแกน้อย ตำบลป่งขาม อำเภอหว้านใหญ่ เป็นแก่งหินยาวเหยียดตามลำน้ำโขง บนฝั่งก็ยังมีลานหินกว้างใหญ่เป็นที่พักผ่อนได้อย่างดี ในฤดูแล้งน้ำลดจนเห็นเกาะแก่งกลางน้ำและหาดทรายสวยกว่าฤดูอื่น ๆ ซึ่งภายในแก่งกะเบามีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นที่พัก ร้านอาหาร บริเวณแก่งมีบริการห่วงยางให้เช่า ให้กับผู้ที่ต้องการลงเล่นน้ำก็มีบริการ ในช่วงเวลากลางวันนั้นอากาศร้อนเพราะว่าในแก่งไม่มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงา ควรเอาร่มหรือหมวกกันแดดไปด้วย

11. ห้าแยกชุมชนเวียดนาม

          ตั้งอยู่ในตัวเมืองมุกดาหาร เป็นที่ตั้งชุมชนชาวเวียดนาม และเป็นตลาดอาหารเช้าที่ขึ้นชื่อของมุกดาหาร หากนักท่องเที่ยวมีโอกาสมามาเยือนห้าแยกเวียดนามในยามเช้าตรู่จะได้ลิ้มรสอาหารพื้นเมือง อาทิ ข้าวเปียก กวยจั๊บญวน ข้ามต้ม เลือดแปลง หมูยอ ไส้หมูลวกจิ้ม และอื่น ๆ นอกจากจะได้ลิ้มลองอาหารเวียดนามแท้ ๆ แล้ว หากมีโอกาสมาเยือนห้าแยกเวียดนามยังจะได้สัมผัสถึงวิถีชีวิตของชุมชนเวียดนามดั้งเดิมที่อพยพมาอาศัยบริเวณตัวเมืองจังหวัดมุกดาหาร ในช่วงยุคอพยพย้ายถิ่นฐานและอยู่อาศัยมาจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

12. หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

          หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตั้งอยู่ที่บ้านภู หรือชุมชนบ้านภู เป็นชนเผ่าผู้ไทย ที่อพยพจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง เมื่อ พ.ศ. 2387 ตั้งภูมิลำเนาในพื้นที่บ้านภูรวมอายุได้ 130 ปี ผู้นำหมู่บ้านคนแรกได้แก่ เจ้าสุโพสมบัติ ที่นี่มีวัฒนธรรมและประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นภาษาและดนตรีประเพณีต่าง ๆ อีกทั้งยังใช้วิถีชีวิตแบบพอเพียง นิยมปลูกพืชผักสวนครัวหลังฤดูเก็บเกี่ยวและตามหลังบ้าน นิยมการแต่งกายให้เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน คือผู้หญิงนุ่งซิ่นทิว ใส่เสื้อเย็บมือย้อมคราม แถบชายขอบแดง ห่มผ้าสไบพาดไหล่ซ้าย คนในชุมชนพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เด็กเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น